การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ ๗๑    05 กุมภาพันธ์ 2559

 

การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ ๗๑
 
                        คณะกรรมการดำเนินงานจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ      ครั้งที่ ๗๑โดยนายสมชาย พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด   เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิเชียร ชวลิต ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬาฯ  นายเทวินทร์   วงศ์วานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์   กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเจน นำชัยศิริ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการแข่งขันฝ่ายจุฬาฯ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลธรรมศาสตร์ และ นางนวลพรรณ ล่ำซำ / นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวการจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ ๗๑ พร้อมเปิดตัวนักฟุตบอล ทีมเชียร์ลีดเดอร์ธรรมศาสตร์ ผู้นำเชียร์จุฬาฯ ดรัมเมเยอร์ธรรมศาสตร์  จุฬาฯ คทากร ผู้อัญเชิญป้ายนามมหาวิทยาลัยของทั้งสองสถาบัน เพื่อให้ประชาชนและชาวธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ได้รับทราบโดยทั่วกัน
                        การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ ๗๑ ในปีนี้ฝ่ายธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตั้งแต่เวลา  ๑๔.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.   ณ สนาศุภชลาศัยสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๕ - ๑๘.๓๕ น. 
                        การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬาฯ ได้มีการจัดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่    ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ เพื่อเป็นการสานต่อประเพณีที่ดีงาม และสร้างความรักสามัคคี ระหว่างศิษย์เก่าของสองสถาบันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่การแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสามัคคี และความมีน้ำใจนักกีฬาในระดับมาตราฐานสากลเท่านั้น การจัดกิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬาฯ นิสิตนักศึกษาจะรวมพลังกันด้วยความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ขบวนพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร ในแนวทางสร้างสรรค์ โดยมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ ๗๑ นี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต จึงสื่อสารผ่านแนวคิดหลัก ครั้งหนึ่ง...” มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้าร่วมงานได้มาย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์หรือความทรงจำในระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๐ – พ.ศ.๒๕๕๐ ที่จบลงและลืมเลือนไป  ดังนั้น งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ ๗๑ จะเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมรำลึกถึงความหลังที่เคยมีต่องานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ขอเชิญประชาชนชาวเหลือง-แดง และชาวจามจุรี ร่วมงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ ๗๑ ในวันเสาร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. ณ สนาศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ บัตรเข้าร่วมงานราคา ๑๐๐ บาท และ ๒๐๐ บาท สามารถซื้อบัตรได้ที่ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เฉพาะในวันแข่งขันตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. เป็นต้นไป
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
 
การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งนี้ ใช้แนวคิดหลักการจัดร่วมกันในชื่อ Theme ของงาน “ครั้งหนึ่ง” โดยทั้งสองสถาบันได้ขยายความเพิ่มเติมไว้ ดังนี้
ครั้งหนึ่ง” ธรรมศาสตร์  
             เราต้องการที่จะนำทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานฟุตบอลประเพณีฯในครั้งนี้ ให้ได้หวนย้อนรำลึกถึงบรรยากาศความสามัคคีของพวกเราชาวธรรมศาสตร์-จุฬาฯอีก “ครั้งหนึ่ง”   โดยที่แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพวกเราที่อยากจะให้ทุกคนลองมองย้อนกลับไปในอดีตถึงเรื่องราวความร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งอุดมการณ์ เจตนารมณ์ที่ต้องการจะทำเพื่อมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รัก ตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มของงานฟุตบอล   ประเพณีฯ จวบจนครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ 
            หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต สามารถกล่าวได้ว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่เพียงสอนให้เรา ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ รู้รักสามัคคีกันเท่านั้น แต่ยังสอนให้ สองสถาบันที่มีพันธกิจที่จะรับใช้ประชาชน เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า รับใช้ประชาคือปลายทางเราที่เล่าเรียน” และ “เกียรติภูมิจุฬาฯ    คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” ได้เรียนรู้ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีน้ำใจกับเพื่อนพ้องต่างสถาบัน และรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น
            ถึงแม้ว่าคนที่มาร่วมงานฟุตบอลประเพณีฯอาจจะไม่ได้กลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะได้ฉุกคิด มีความตระหนักรู้ ตั้งใจทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเพื่อวันข้างหน้าในอนาคต และเราจะทำให้งานฟุตบอลประเพณีฯครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่ง”   ที่น่าจดจำ ครั้งหนึ่ง”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯเป็นกิจกรรมที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมดังกล่าวคือ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองมหาวิทยาลัย อีกทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบันแสดงความสามารถและฝีมือผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬา การแสดงความสามารถด้านศิลปะ ยิ่งไปกว่านั้น นิสิตนักศึกษายังได้ฝึกฝนกระบวนการทำงาน และการบริหารจัดการระหว่างดำเนินกิจกรรม ซึ่งงานฟุตบอลประเพณีฯ ทุกปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะร่วมกันกำหนดแนวความคิดหลัก เพื่อให้แนวทางการนำเสนองานของกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแนวคิดหลักดังกล่าวสะท้อนความคิดของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่ต้องการปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดีแก่ผู้เข้าร่วมงาน  เพื่อสร้างสังคม     ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ ๗๑ นี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ทั้งสองสถาบันจึงสื่อสารผ่านแนวคิดหลักครั้งหนึ่ง...” โดยมีที่มาจากการตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมงานให้ฉุกคิดว่า “ครั้งหนึ่ง...” เคยเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นในสังคมบ้าง แนวคิดนี้เกิดจากความคิดว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่สามารถเลือนหายไปได้ตามกาลเวลา ทว่าความทรงจำบางส่วนที่หายไปอาจเป็นความทรงจำที่ดี ข้อคิด หรือบทเรียนต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งผลให้การดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคตสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวคิดนี้จึงต้องการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองและสิ่งรอบตัว อีกทั้งได้พิจารณาถึงสิ่งที่ขาดหายไปจากความทรงจำ เปิดโอกาสให้ตามหาความทรงจำอันมีค่าเหล่านั้นมาเติมเต็มจุดที่ขาดหายไปอีกครั้ง เพื่อให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและกำลังจะเกิดในอนาคตครั้งหนึ่ง หมายถึง เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว โดยกำหนดให้เป็นเหตุการณ์สำคัญระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมงาน ทั้งนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน (เกิดก่อน พ.ศ.๒๕๔๐) ศิษย์เก่าและบุคคลที่สนใจในช่วงวัยใกล้เคียงกัน ต่างมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ ร่วมกัน เพื่อให้การรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ เหตุการณ์สึนามิ เป็นต้น โดยมุ่งหวังว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้รับข้อคิดหรือบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา และนำข้อคิดนั้นกลับคืนมาเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งใช้บทเรียนในอดีตรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยและเริ่มต้นสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งงานฟุตบอลประเพณีฯ นอกจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รำลึกถึงเหตุการณ์หรือข้อคิดในอดีตด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นเสมือนพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้พบปะกับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักในอดีตอีกครั้ง ถือเป็นโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้รำลึกความหลังร่วมกัน ทำให้บรรยากาศของการย้อนรำลึกอดีตเป็นไปได้อย่างสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
            ดังนั้นแนวคิด “ครั้งหนึ่ง....” อาจจะสะท้อนผ่านจิ๊กซอว์ที่อธิบายถึงจุดประสงค์ของแนวคิดหลักที่สื่อถึงการขาดหายและการเติมเต็มได้ดี โดยจิ๊กซอว์ที่หายไปแต่ละชิ้น เป็นสัญลักษณ์แทนความทรงจำ ความรู้สึก และ ประสบการณ์ที่มีต่อเหตุการณ์และสิ่งต่างๆในอดีตที่ขาดหายไป การมางานฟุตบอลประเพณีฯ เปรียบเสมือนการตามหาจิ๊กซอว์ที่ตรงกับส่วนที่ขาดหายเพื่อเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น สื่อถึงการเติมเต็มความทรงจำ ความรู้สึก และประสบการณ์ที่หายไป และมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้าร่วมงานกลับไปด้วยภาพจิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์
            โดยสรุปแล้ว แนวความคิดย่อย "ครั้งหนึ่ง..." มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมงานได้มาย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์หรือความทรงจำในระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๐ – พ.ศ.๒๕๕๐ ที่จบลงและลืมเลือนไป งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ ๗๑ จะเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานตามหาความทรงจำที่หายไปและเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นให้เต็ม เพื่อให้ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น