ประวัติการก่อตั้งสมาคม

ประวัติสมาคม

    สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมมีชื่อว่า “สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์” ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้ กรรมการประจำคณะปริญญาโทและเอก ชุดปีการศึกษา ๒๔๙๑ ประชุมกัน และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น โดยได้กำหนดให้มีการประชุมธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) ทุกรุ่น

    เพื่อปรึกษาหารือกันในการจัดตั้งคณะกรรมการร่างข้อบังคับของสมาคม และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัย ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้น จำนวน ๑๕ คน คือ นายเอื้อ บัวสรวง เป็นประธานกรรมการ นายวงศ์ พลนิกร เป็นรองประธานกรรมการ นายประหยัด เอี่ยมศิลา นายประจวบ อัมพะเศวต นายนิคม จันทร์วิทูร นายทับ วรกัณฑ์ นายชิต วิภาสธวัช นายศักดิ์ชัย บำรุงพงษ์ นายไพบูลย์ สุวรรณโพธิ์ นายปรีชา โกศัยกานนท์ นายอัมพร จันทรวิจิตร นายโกศล เวชโกสิทธิ์ นายประภัสสร สุนทรารักษ์ นายจำลอง พลเดช และนายมารุต บุนนาค เป็นกรรมการ

    เนื่องจากระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ – ๒๔๙๕ มีความผันผวนในทางการเมือง กรรมการนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมได้ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาปริญญาโท ถูกห้ามไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัยบ้าง ถูกจับกุมในข้อหาทางการเมืองบ้าง เป็นเหตุให้ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งสมาคมระงับไประยะหนึ่ง

    ในที่สุดการร่างและการพิจารณาข้อบังคับของสมาคมที่ได้มีการประชุมกันหลายครั้ง ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยได้มีมติให้ประกาศใช้ข้อบังคับของสมาคมเรียกชื่อว่า “สมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ สำนักงานตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับสมาคมฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับ ดังนี้

1. ส่งเสริมสามัคคีธรรม และผดุงเกียรติของมวลสมาชิก
2. ส่งเสริม และเผยแผ่วิทยาการ
3. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
4. ส่งเสริมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า
5. ส่งเสริมสามัคคีธรรม และร่วมมือกับสมาคมในเครือธรรมศาสตร์
6. ส่งเสริมกีฬา และบันเทิง ของมวลสมาชิก
วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

คณะกรรมการสมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุดแรก ประกอบด้วย

ก. คณะกรรมการกิตติมศักดิ์

1. นายฉัตร์ ศรียานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย นายกกิตติมศักดิ์
2. นายกระวี ฉัตรภูติ รองเลขาธิการมหาวิทยาลัย อุปนายกกิตติมศักดิ์
3. คณบดี และอาจารย์ประจำทุกคณะ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ (โดยตำแหน่ง)

ข. คณะกรรมการบริหาร

1. นายศักดิ์ ไทยวัฒน์ ร.ม. นายก
2. นายชำนาญ ยุวบูรณ์ ร.ด. อุปนายก
3. นายเอื้อ บัวสรวง ศ.ม. เลขานุการ
4. นางสอาง ศรินทุ ธ.บ. ผู้ช่วยเลขานุการ
5. นายถวัลย์ ศิลปกิจ บี.เอ. เหรัญญิก
6. นางประชุม ชัยรัตน์ ธ.บ. ปฏิคม
7. คุณสุภัทรา สิงหลกะ ธ.บ. ปฏิคม
8. นายจำรัส ชมพูพล ธ.บ. บรรณกร
9. นายเชื้อ ปริญญาธวัช ธ.บ. บรรณารักษ์
10. นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ธ.บ. ปาฐกถาและโต้วาที
11. นายทับ วรกัณฑ์ ธ.บ. นายทะเบียน
12. นายพรต พุทธินันท์ (รักษาการณ์ในหน้าที่) โฆษก

ค. คณะกรรมการที่ปรึกษา

1. นายสมัยชัย เอกอุ่น ศ.ม. กรรมการ
2. นายสุเกตุ อภิชาติบุตร ศ.ม. กรรมการ
3. ร.ต.อ.สม ป. จารักษ์ ร.ม. กรรมการ
4. หัวหน้าคณะหรือผู้แทนนักศึกษาที่บรรลุนิติภาวะ ๕ คณะ กรรมการ

เมื่อสมาคมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว คณะกรรมการสมาคมก็ได้ดำเนินงานของสมาคมไปตามวัตถุประสงค์ที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ นายชมพู อรรถจินดา และนายมารุต บุนนาค ได้รื้อฟื้นการดำเนินงานของสมาคม ขึ้น มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยมีนายชำนาญ ยุวบูรณ์ เป็นนายกสมาคม นายชมพู อรรถจินดา เป็นอุปนายก นายมารุต บุนนาค เป็นเลขาธิการ ทั้งนี้ เพื่อขจัดความรู้สึกแตกต่างระหว่างศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยให้สิ้นไป และขยายขอบเขตของสมาชิกให้กว้างขวางขึ้น พร้อมทั้งเพื่อส่งเสริมความสามัคคี และความมั่นคงของสมาคม จึงได้ขอเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น “สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

การก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ของสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ สมัยศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย เป็นนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นั้น นายสุนทร เสถียรไทย อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้อนุมัติให้ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรม- ราชูปถัมภ์ เช่าที่ราชพัสดุ เนื้อที่ ๕ ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร สำหรับใช้เป็นสถานที่ตั้งอาคารสำนักงานแห่งใหม่ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบทางสถาปัตยกรรม และแต่งตั้งให้นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นประธานหาทุนก่อสร้าง ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๑ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

    ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ นายบุญชู โรจนเสถียร ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้ดำเนินการสานต่อเรื่องการก่อสร้างทันที ซึ่งสถานที่ทำการถาวรของสมาคมที่สร้างขึ้นนี้ จะแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตึก ๓ ชั้น หลังคาเป็นรูปโดมซึ่งเปรียบเสมือนมณฑปแห่งปรัชญา และอุดมการณ์ของธรรมศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทย จะไม่สร้างสถานที่ทำการของสมาคม ในลักษณะและรูปแบบของสมาคมหรือสโมสรทั่วไป กล่าวคือสถานที่นี้จะเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์ในการ สืบทอดนโยบาย และเจตนารมย์ในการศึกษา ตลอดจนคุณูปการที่มีต่อชาติบ้านเมืองมาโดยลำดับ

เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์สันนิบาตของชาวธรรมศาสตร์ทุกเพศทุกวัยตลอดไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารสำนักงาน สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๓ พร้อมทรงปลูกต้นยูงทอง ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงาน สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ผลการดำเนินงานของสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงชาวธรรมศาสตร์เข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันก็ได้มีส่วนช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งด้วยอุดมการณ์ และจิตวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์ที่มั่นคง และมีส่วนร่วมการพัฒนาสังคม ในด้านการศึกษา กีฬา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และอื่นๆ ดังนี้

1. มอบทุนการศึกษา แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่มีฐานะยากจนในโอกาสต่างๆ สนับสนุน ทุนงานวิจัยเพื่อการศึกษา สนับสนุนงบประมาณการปรับปรุงอาคารสถานที่ และอุปกรณ์การเรียนแก่สถาบันศึกษาอย่างต่อเนื่อง
2. ดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการให้ความรู้ในด้านเศรษฐกิจ สังคม ในส่วนกลางและการสัมมนาทางวิชาการสัญจรและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริม และสนับสนุนต่างๆ ที่ภาครัฐจัดให้ พร้อมทั้งการสนับสนุนงบประมาณช่อมบำรุงสถานศึกษา ลานกีฬา อุปกรณ์การเรียนและกีฬา
3. ด้านการกีฬา จัดการแข่งขันและให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬาตลอดมา ดังนี้
๓.๑ กีฬาที่เป็นประเพณี เพื่อสานต่อประเพณีที่ดีงามและสร้างความรักสามัคคี ในสถาบัน และระหว่างสถาบัน ดังนี้ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ รักบี้ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ กอล์ฟประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ กอล์ฟประเพณีโดมทองคำ กอล์ฟประเพณี Tai-Dome Cup ระหว่างสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไทเป
๓.๒ กีฬาระดับนานาชาติ การแข่งขันเดิน – วิ่ง การกุศล ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาล์ฟ มาราธอน (Thailand International Half Marathon) มีนักกีฬาจากต่างประเทศ และประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดี ตลอดจนประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทย
๓.๓ สนับสนุนงบประมาณ และอุปกรณ์กีฬา เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเล่นกีฬา ห่างไกลยาเสพติด และพัฒนาทักษะด้านกีฬาไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างต่อเนื่อง
๔. สนับสนุนการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบท โครงการเลือดไม่แบ่งสี เพื่อขอรับบริจาคโลหิต มอบให้แก่สภากาชาดไทย และโรงพยาบาล
๕. การจัดรายการพิเศษเนื่องในวันธรรมศาสตร์ ๙ ธันวาคม ทางสถานีโทรทัศน์ เพื่อการสื่อสารให้ประชาคมธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไปได้รับทราบความคืบหน้าของธรรมศาสตร์ และร่วมกันทำความดีแก่สังคม อาทิ ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งอาคารสถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ มีชาวธรรมศาสตร์ และประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินผ่านรายการพิเศษดังกล่าวแก่โรงพยาบาลเพื่อเป็นงบประมาณฟื้นฟูโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก